การจัดการสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร และวิธีการตรวจสอบ

22 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การจัดการสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร และวิธีการตรวจสอบ

ภูมิแพ้อาหาร: เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
 

โรคภูมิแพ้ (Allergy) คือ ภาวะที่ร่างกายมีปฏิกิริยารุนแรงเกินปกติต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสิ่งที่ไม่อันตรายจนเกิดอาการผิดปกติ สิ่งกระตุ้นเหล่านี้เรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ (Allergen) ซึ่งพบได้ในสิ่งรอบตัว เช่น ไรฝุ่น รังแคสัตว์ เกสรดอกไม้ อาหาร หรือแม้แต่ยาบางชนิด หนึ่งในสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนจำนวนมาก คือ สารก่อภูมิแพ้จากอาหาร (Food allergens)

สารก่อภูมิแพ้ในอาหารมักเป็นโปรตีนที่ทนต่อความร้อนและกระบวนการย่อย เช่น โปรตีนจากนม ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ปลา หรือสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาการแพ้อาหารอาจไม่ได้เกิดจากอาหารโดยตรงเสมอไป แต่อาจเกิดจากสารปนเปื้อนหรือสารกันเสียที่ปะปนอยู่ในอาหาร

รูปที่ 1 อาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ (1)

เมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ ระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างแอนติบอดีชนิดหนึ่งเรียกว่า IgE (Immunoglobulin E) ซึ่งจะจับกับเม็ดเลือดขาว และเมื่อ IgE พบกับสารก่อภูมิแพ้อีกครั้ง จะกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวปล่อย ฮิสตามีน (Histamine) ออกมา ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ผื่นคัน บวม หายใจลำบาก หรือในบางกรณีอาจเกิดภาวะรุนแรงที่เรียกว่า Anaphylaxis (ช็อกจากอาการแพ้) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

รูปที่ 2 กลไกการเกิดปฏิกิริยาการแพ้อาหาร (2)

เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ร่วมกันจัดทำแนวทางภายใต้ชื่อ CODEX Alimentarius Commission สำหรับผู้ผลิตอาหาร ร้านค้า และภัตตาคาร โดยมีแนวทางสำคัญ ดังนี้ (3):

  1. การประเมินความเสี่ยงของสารก่อภูมิแพ้ (Allergen Risk Assessment): ประเมินความเสี่ยงตั้งแต่ขั้นตอนคัดเลือกวัตถุดิบ ไปจนถึงกระบวนการผลิต การขนส่ง และการจัดเก็บ

  2. การควบคุมการปนเปื้อนข้าม (Cross-contact Prevention): ควบคุมไม่ให้เกิดการปนเปื้อนระหว่างผลิตภัณฑ์ที่มีสารก่อภูมิแพ้กับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ โดยอาจแยกสายการผลิตหรือใช้อุปกรณ์เฉพาะ

  3. การติดฉลากที่ชัดเจนและสอดคล้อง (Clear and Consistent Allergen Labelling): ระบุสารก่อภูมิแพ้บนฉลากผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน ตรงตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้อย่างปลอดภัย

  4. การตรวจสอบย้อนกลับและการจัดการเหตุการณ์ (Traceability and Incident Management): มีระบบติดตามย้อนกลับวัตถุดิบที่อาจเกี่ยวข้องกับสารก่อภูมิแพ้ และสามารถดำเนินการตรวจสอบหรือเรียกคืนสินค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

  5. การฝึกอบรมพนักงาน (Staff Training): พนักงานทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจัดการอาหารต้องได้รับการอบรมเกี่ยวกับความเสี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้ วิธีการควบคุม และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้และลดความผิดพลาด

  6. การสื่อสารกับผู้บริโภคและหน่วยงานกำกับดูแล (Consumer and Regulatory Communication): ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้อย่างโปร่งใส ถูกต้อง และตรวจสอบได้ รวมถึงเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถสอบถามหรือแจ้งปัญหาได้อย่างสะดวก

 

ปัจจุบันพบว่าอาการแพ้อาหารในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเด็กเล็ก อาหารที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่:

  • ธัญพืชที่มีกลูเตน เช่น ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์

  • สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง เช่น ปู กุ้ง ลอบสเตอร์

  • ไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่

  • ปลา (ยกเว้นเจลาตินจากปลา)

  • ถั่วลิสง

  • ถั่วเหลือง

  • นมและผลิตภัณฑ์จากนม (รวมถึงแลคโตส)

  • ถั่วเปลือกแข็ง

  • ซัลไฟต์ในปริมาณ ≥ 10 มก./กก.

  • หอยและหมึก

 

ลักษณะการแพ้อาหารในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันตามวัฒนธรรมการบริโภค เช่น สหรัฐอเมริกาพบการแพ้ถั่วลิสงบ่อย ขณะที่ในญี่ปุ่นมักพบการแพ้ปลาและอาหารทะเล เนื่องจากบริโภคบ่อย

การควบคุมคุณภาพและตรวจสอบสารก่อภูมิแพ้เป็นเรื่องสำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ช่วยตรวจสอบสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร มีการพัฒนาชุดทดสอบหลายประเภทให้แม่นยำและใช้งานง่าย เช่น:

  • Rapid Test (Lateral Flow): เป็นชุดทดสอบที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่าย รวดเร็ว และสะดวก เหมาะสำหรับการตรวจสอบในภาคสนามหรือหน้างาน ใช้ตรวจคราบโปรตีนบนพื้นผิว เช่น Total protein swab test (Morinaga), ใช้ตรวจสารก่อภูมิแพ้จำเพาะในอาหารหรือตัวอย่างสัมผัส เช่น Detection Food Allergen Test Kits จาก Regabio, Morinaga หรือ Progmosis Biotech ซึ่งสามารถตรวจพบสารก่อภูมิแพ้จากถั่วลิสง นม ไข่ ถั่วเหลือง ฯลฯ

  • ชุดทดสอบ ELISA: ใช้สำหรับตรวจหาปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ในผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป มีความแม่นยำและเชื่อถือได้ เช่น ชุดทดสอบสารก่อภูมิแพ้ (Allergen detection) จาก Morinaga, Progmosis Biotech, ชุดทดสอบไมโคทอกซิน (Mycotoxin) และฮีสตามีน (Histamine) จาก Prognosis Biotech

  • Real-time PCR: ตรวจหาดีเอ็นเอของอาหารที่ก่อภูมิแพ้ ด้วยความแม่นยำสูง

 

ภูมิแพ้อาหารอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง การรู้เท่าทันและใส่ใจตั้งแต่ระดับการผลิตจนถึงผู้บริโภคปลายทาง คือหัวใจของการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง

 

อ้างอิง

 

 

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้